Hypertension 2020

Current Status of Hypertension Management 2020

บทความโดย พ.อ. นพ.กิจจา จำปาศรี

อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.พระมงกุฎเกล้า

ปัจจุบันการรักษาโรคความดันโลหิตสูงยังประสบความสำเร็จน้อยมาก โดยเฉพาะในระยะยาว ทำให้ผู้ป่วยยังคงมีการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองในระดับที่สูงมาก วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยอายุยืนขึ้นได้

แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในปัจจุบัน ยึดถือตามคำแนะนำของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 (เอกสารอ้างอิง1) โดยกำหนดความดันปกติควรน้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท และหากความดันของผู้ป่วยมากกว่า 140/90 มม.ปรอท จะเข้าเกณฑ์ของโรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ซึ่งสอดคล้องไปกับแนวทางการรักษาของทั้งอเมริกา (ACC 2017, เอกสารอ้างอิง2) และยุโรป (ESC 2018, เอกสารอ้างอิง3)

ภาพที่ 1: เปรียบเทียบการแบ่งระดับโรคความดันโลหิตสูงจาก 3 สมาคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูถึงประสิทธิภาพของการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเพียง 1/3 เท่านั้นที่สามารถรักษาได้ถึงเป้าหมาย ทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองยังคงสูงมาก คืออัตราการเสียชีวิตรวมของทั้ง 2 โรคอยู่ที่ 16.3% ในเพศชาย และ 18.8% ในเพศหญิง (เอกสารอ้างอิง4)

จะเห็นได้ว่าแม้เราจะมียาใหม่ๆมากมาย เราก็ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้ถึงเป้าหมายได้ สิ่งสำคัญที่เราควรจะช่วยกันคือการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ว่านอกจากต้องรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำแล้ว ยังต้องดูแลตนเองและใช้การรักษาอื่นนอกจากยาร่วมด้วย ได้แก่การควบคุมน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเค็มน้อย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การหลึกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดเช่นยาแก้ปวดทั้งกลุ่ม steroid และ NSAIDs

เพราะจากข้อมูลในหลายการวิจัย (เอกสารอ้างอิง5) สรุปตรงกันว่าหากเราสามารถลดความดันโลหิตลงได้แม้เพียงความดันตัวบน 2 มม.ปรอท จะสามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ถึง 7% และลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 10% และหากเราสามารถลดความดันโลหิตตัวบนลงได้ถึง 10 มม.ปรอท เราจะสามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ถึง 30% และลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 40%

หากเพื่อนๆยังไม่ได้กด Like และกดติดตามช่อง DRK ของเราฝากช่วยกดด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่บทความหน้า เรื่องแนวทางแบ่งชนิดและการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ขอบคุณครับ / หมอเต้

★☆★ ฝากติดตามช่อง DRK Channel ของเราที่โซเชียลมีเดียอื่นๆด้วยนะครับ ★☆★

บล็อกดิท: https://www.blockdit.com/drkchannel

ยูทูป: http://www.youtube.com/c/DRKChannel

เฟสบุ๊ค: https://www.facebook.com/doctorKchannel

อินสตาแกรม: https://www.instagram.com/doctorkitcha

ทวิตเตอร์: https://twitter.com/doctorkitcha

ลิงค์อิน: https://www.linkedin.com/in/doctorkitcha

ไลน์ ไอดี: https://lin.ee/hMV85DN or @drkchannel

เอกสารอ้างอิง

1. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

2. 2017 Guideline for the Prevention, Detection, Evaluation, and Management of High Blood Pressure in Adults

3. 2018 ESC/ESH Guidelines for the management of hypertension European Heart Journal, Volume 39, Issue 33, 01 September 2018.

4. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 (Thai National Health Examination Survey, NHES-V, 2014)

5. Age-specific relevance of usual blood pressure to vascular mortality: a meta-analysis of individual data for one million adults in 61 prospective studies. Lancet VOLUME 360, ISSUE 9349, P1903-1913, DECEMBER 14, 2002.